วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เปิดงานความร่วมมือเพื่อมุ่งสู่วัคซีนไข้เลือดออก






จ.ราชบุรี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนไข้เลือดออกในเด็กไทย 4000 คน ที่อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

 
ที่ห้องประชุมโรงแรมเวสเทิร์นแกรนด์  นายชนชื่น  บุญญานุสาสน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย นางศมานันท์  เหล่าวณิชวิศิษฎ  นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี  นายแพทย์สมชาย  เทพเจริญนิรันดร์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี นายแพทย์ศุภมิตร  ชุณห์สิทธิวัฒน์  นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวลักษณ์ สุขธนะ คณะบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล Dr.Jean Lang และศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอรุณี ทรัพย์เจริญ หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยวัคซีนไข้เลือดออก ร่วมเป็นเกียรติเปิดงาน ความร่วมมือเพื่อมุ่งสู่วัคซีนไข้เลือดออก โดยมหาวิทยาลัยมหิดล
           
โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ 4ซีโรทัยพ์ เป็นปัญหาโรคติดเชื้อที่สำคัญทางสาธารณสุข ของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเขตร้อน โรคนี้มียุงเป็นพาหะนำโรค ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและยารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ จึงรักษาตามอาการของโรค ประเทศไทยมีไข้เลือดออกระบาดมานานกว่า 50 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา ขณะนี้พบโรคไข้เลือดออกได้ในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ และตำบล และมีการระบาดทุกปี ส่วนมากผู้ป่วยเป็นเด็ก อายุน้อยกว่า 15 ปี

ในระยะ 5 เดือนแรกของปี พ.ศ.2556 ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึง 11 มิ.ย. มีรายงานจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 43,609 ราย และเสียชีวิต 50 ราย ส่วนผู้ป่วยในจังหวัดราชบุรี มีจำนวน 379 ราย ซึ่งยังไม่พบการเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขคาดว่า ในปี พ.ศ.2556อาจมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต มากกว่า 100 ราย มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยปีละ 250 ล้านบาท ซื้อสารเคมีฆ่ายุงปีละ 800 ล้านบาท และเสียงบประมาณสำหรับบุคลากรอีกจำนวนมาก
           
ในระหว่างเดือน ก.พ.2552-มี.ค.2554 คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลราชบุรี และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาวัคซีนไข้เลือดออก (บริษัท ซาโนฟี่ปาสเตอร์) จำนวน 3 เข็ม ให้แก่นักเรียนอายุ 4-11 ปี ที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมืองราชบุรี จำนวน 4000 คน โดยฉีด 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน คณะวิจัยได้ติดตามดูแลสุขภาพของเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าจำนวนเด็กที่ เป็นไข้เลือดออกลดลงหรือไม่ หลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว ผลของการศึกษาพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย สามารถป้องกันโรคจากเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้ 3ซีโรทัยพ์

การศึกษานี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนไข้เลือดออกครั้งแรกในโรค ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ยังได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามผลด้านความปลอดภัยในระยะยาว ประโยชน์สำหรับประเทศไทยคือ วัคซีนไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพจะลดจำนวนการป่วย ลดจำนวนการตายจากโรคนี้ ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าสารเคมีฆ่ายุง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องลง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าวัคซีนนี้สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ และปลอดภัยจริงก่อนที่จะใช้กับประชาชนทั่วไป

ขณะนี้กำลังมีการศึกษาเพิ่มเติมระยะที่ 3ในประเทศไทยและในหลายๆประเทศโดยรวมแล้วโครงการศึกษาวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกที่ได้ดำเนินการทั่วโลกขณะที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนเกือบ 45,000คนใน 15ประเทศ ทั้งในทวีปอเมริกา ละตินอเมริกา และเอเชีย แปซิฟิก อาทิสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เปรู และแม็กซิโก



**********************************
ภาพ/  สุชาติ  รอดบุญพา
ข่าว/  กาญจนา  สิมมา
24/06/56

ไม่มีความคิดเห็น: