สาธารณสุขจังหวัดราชบุรีเตือนบารากู่มีพิษร้ายมากกว่าบุหรี่
นายแพทย์บุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า บารากู่ เป็น ยาสูบที่นำมาใช้กับอุปกรณ์ที่ใช้เสพ ซึ่งประเทศไทย เรียกกว่า เตาบารากู่ การสูบโดยใช้อุปกรณ์นี้เป็นวัฒนธรรมแถบตะวันออกกลางมานานแล้ว ปัจจุบันได้แพร่หลายมาสู่เอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งสารที่นำมาใช้กับเตาบารากู่ เป็นส่วนผสมของใบยาสูบกับสารที่มีความหวาน เช่น น้ำผึ้ง กากน้ำตาล หรือผลไม้ตากแห้ง
จากการศึกษาเกี่ยวกับการสูบยาโดยใช้เตาบารากู่ ถ้าใช้เวลาสูบนาน 45 นาที จะได้รับสารทาร์เป็น 36 เท่า คาร์บอนมอนอกไซด์เป็น 15 เท่า และนิโคตินเป็น 70 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้บุหรี่ 9 มวน (ซึ่งคำนวณว่า 1 มวน ใช้เวลา 15 นาที) บารากู่ถือเป็นยาสูบที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ บารากู่ที่ประกอบด้วยยาสูบและผลไม้ซึ่งดูเหมือนจะปลอดภัย แต่การสูบแต่ละครั้งควันที่ผ่านเข้าไปลึกถึงในปอดนั้น เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต มะเร็ง มดลูก และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และโรคร้ายอื่น ๆ ที่อาจจะตามมา
********************************************
ภาพ/ สุชาติ รอดบุญพา
ข่าว/ กาญจนา สิมมา
17/09/56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น