วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

สนข.เปิดรับฟังความเห็นรถไฟความเร็วสูงสายใต้ (กรุงเทพฯ-หัวหิน) 225 กม. ก่อสร้างเสร็จปี 62 เดินทางแค่ 1 ชม.






สนข.เปิดรับฟังความเห็นรถไฟความเร็วสูงสายใต้ (กรุงเทพฯ-หัวหิน) 225 กม. ก่อสร้างเสร็จปี 62 เดินทางแค่ 1 ชม.



ที่ห้องประชุมอำเภอเมืองราชบุรี สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน เพื่อนำเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับแนวเส้นทางที่เหมาะสม พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่โดยมีนายณัฐวุฒิ  เพร็ชรพรมศร นายอำเภอเมืองราชบุรี เป็นประธานการประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ และผู้มีเกียรติ จำนวนกว่า 200คน

สำหรับการดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ขณะนี้ สนข.ได้ข้อสรุปเส้นทางในการก่อสร้างแล้วจากทั้งหมด 5 แนวทางเลือก โดยเส้นทางก่อสร้างส่วนใหญ่จะยึดตามแนวเส้นทางรถไฟไทยเส้นทางสายใต้เดิม คือ

ช่วงที่ 1 จากสถานีบางซื่อถึงอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เริ่มต้นจากสถานีรถไฟกลางบางซื่อใช้เขตทางตามแนวรถไฟสายใต้ผ่านจังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี บรรจบสถานีเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ส่วน

ช่วงที่ 2 ช่วงที่ผ่านอำเภอเมืองเพชรบุรีเป็นทางรถไฟยกระดับ โดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนนเพชรเกษมที่อยู่ระหว่างทางหลักและทางขนานเป็นที่ตั้งเสาโครงสร้างทางยกระดับของรถไฟความเร็วสูง ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร และบรรจบเข้าทางรถไฟเดิมผ่านอำเภอชะอำ เข้าสู่สถานีหัวหิน รวมระยะทางสายกรุงเทพฯ-หัวหิน 225 กิโลเมตร 

โดยศักยภาพของรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหินนั้นสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ขนส่งผู้โดยสารได้ประมาณ 700 คน/เที่ยว ใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯ-หัวหินเพียง 1 ชั่วโมง พร้อมระบบป้องกันรถไฟอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Full ATP) และระบบอาณัติสัญญาณควบคุมขบวนรถระดับมาตรฐานสากล พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง รวมทั้งเชื่อมโยงกับระบบรถไฟทางคู่เพื่อรองรับการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ต่างๆของภูมิภาค 

ทำให้การเดินทางของประชาชนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวสะดวกสบายสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างทั่วถึง ถึงที่หมายอย่างรวดเร็วและกำหนดเวลาได้ส่งเสริมศักยภาพของธรุกิจท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีขณะเดียวกันสนข.ก็ให้ความสำคัญต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมและข้อกังวลของชุมชนจึงได้ทำการศึกษาผลกระทบและกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมที่สุด




*******************************************
ภาพ/ข่าว  ภัทรพงศ์  คำเปรม
19/09/56

ไม่มีความคิดเห็น: