วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเยี่ยมชมสาหร่ายลดโลกร้อนที่โรงไฟฟ้าราชบุรี

                       






ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเยี่ยมชมสาหร่ายลดโลกร้อนที่โรงไฟฟ้าราชบุรี      

เมื่อเวลา 11.30 น. ของวันที่ 10 พฤษภาคม  2555 นายวิฑูรย์  สิมะโชคดี  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการวิจัยผลิตสาหร่ายสไปลูรีน่า ที่บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด  ต.พิกุลทอง อ.เมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีนายณรงค์ ครองชนม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี  นายสุรพล  ชามาตย์  หัวหน้าอุตสาหกรรมจังหวัด  นายมานิต  นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี  พรรคภูมิใจไทย  พร้อมนายธีระศักดิ์  ประกายบุญทวี รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จํากัด ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมการผลิตเพาะเลี้ยงสาหร่าย

นายวิฑูรย์  สิมะโชคดี  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการเยี่ยมชมการวิจัยผลิตสาหร่ายสไปลูรีน่า ในครั้งนี้ว่า เป็นโครงการที่น่าสนใจมาก  เนื่องจากเป็นการนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปลูรีน่า ซึ่งจะขยายในเชิงพาณิชย์ต่อไป เบื้องต้นถือว่างานวิจัยชิ้นนี้สามารถลดโลกร้อนด้วยการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตได้ ซึ่งยังคงอยู่ในขั้นวิจัยอยู่   และสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรให้การสนใจและยอมรับถึงแม้จะต้องลงทุน และอาจจะคุ้มทุนในภายหน้าต่อไปซึ่งขณะนี้โลกเราทั้งหมดกำลังเน้นเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์

การเพาะเลี้ยสาหร่ายสไปรูลิน่าพบว่า 1 ไร่  จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้  9.59  ตัน/ไร่/ปี หรือหากเปรียบเทียบกับการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ขนาดเดียวกัน สาหร่ายสไปรูลิน่าสามารถสูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้ถึง 9 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากการวิจัยโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

สำหรับกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือทิ้งออกมาจำนวนหนึ่ง  ก๊าซที่เหลือจากกระบวนการผลิตดังกล่าว โรงไฟฟ้าจะถูกป้อนเข้าสู่สถานีปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  และจ่ายไปยังท่อส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ฟาร์มเพาะสาหร่าย โดยลักษณะของฟาร์มจะเป็นบริเวณกว้างเปิดโล่งในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่  โดยมีบ่อทดลองที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับสาหร่ายและสอดคล้องกับสถานที่จริงที่โรงไฟฟ้า 

สำหรับบ่อเพาะหัวเชื้อจะมีจำนวน 2 บ่อ ในแต่และบ่อจะมีความกว้าง  4  เมตร  ยาว  30  เมตร  มีหลังคาบังแดดและสารที่เป็นอันตรายต่อสาหร่ายที่มากับลม  เช่น   โปรโตซัวจากฟาร์มหมูใกล้โรงไฟฟ้า  เมื่อท่อส่งก๊าซจากสถานีปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาถึงฟาร์มเพาะสาหร่าย ก็จะแยกเป็นท่อย่อยขนาดเล็กจ่ายก๊าซลงสู่บ่อ 

โดยลักษณะของสาหร่ายที่เพาะได้จากฟาร์มทดลองจะมีขนาดเล็กมาก  แต่ละเซลล์มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น  สามารถนำมาอบแห้งเป็นอาหารสัตว์หรืออาหารของมนุษย์  โดยสาหร่ายในพื้นที่  1 ไร่  จะเพาะเลี้ยงได้  4  ตันต่อปี  สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ  9.59  ตันต่อไร่ต่อปี  ปัจจุบันโครงการกำลังศึกษาหาปริมาณความเข้มข้นแสงที่ดีที่สุดต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายเพื่อให้สามารถใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าได้มากที่สุด




***********************************
ภาพ/  สุชาติ  รอดบุญพา
ข่าว/  กาญจนา  สิมมา
11/05/55

ไม่มีความคิดเห็น: