วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566

เทศกาลมาฆบูชา "สีสันแห่งแสง ทวาราวดี ศรีรัตนมหาธาตุ ราชบุรี" วันที่ 3-6 มี.ค.2566

งานนมัสการพระมหาธาตุ และเทศกาลมาฆบูชา ประจำปี ปีที่ 76 ณ วัดหาธาตุวรวิหาร ปีนี้ อบจ.ราชบุรี สนับสนุนงบประมาณ จัดแสงสีเสียงเสียงเต็มที่ภายใต้แนวคิด "สีสันแห่งแสง ทวาราวดี ศรีรัตนมหาธาตุ ราชบุรี"



งานนมัสการพระมหาธาตุ และเทศกาลมาฆบูชา ประจำปี ปีที่ 76 ณ วัดหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี  ปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 3-6 มีนาคม 2566 ซึ่งตรงกับขึ้น 12-15 ค่ำเดือน 4 มีกิจกรรมสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่
  • การบำเพ็ญกุศลถวายอดีตเจ้าอาวาส (3 มี.ค.2566 เวลา 09:00 น.)
  • การแห่ผ้าและห่มผ้า พระมงคลบุรี พระศรีนัคร์ และพระพุทธไสยยาสน์ (3 มี.ค.2566 เวลา 13:00-17:00 น.)
  • เทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ โดยพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง มีทุกวัน (เริ่มกัณฑ์แรกเย็นวันที่ 3 มี.ค.2566 เวลา 18:00 น.) ดูตารางด้านล่าง 
  • ไถ่ชีวิตโค (4-5-6 มี.ค.2566)
  • ประกวดกล้วยไม้และบอนไซ (6 มี.ค.2566)
  • แห่ผ้าและห่มผ้าพระมหาธาตุ (6 มี.ค.2566 วันมาฆบูชา เวลา 17:30-18:30 น.)
  • เวียนเทียนวันมาฆบูชา (6 มี.ค.2566 วันมาฆบูชา เวลา 20:00 น.)
  • มหรสพในงาน ละครชาตรี (คณะสกุณานาฎศิลป์) ลิเกคณะยิ่งรัก อารีย์พร และหนังกลางแปลง ทรงพลภาพยนต์

พระครูวิสุทธิ์ธรรมประสิทธิ์ (สิน) และ
พระครูศรีธรรมประสิทธิ์ (สม)
พระครูฝาแฝดวัดหลักสี่ นักเทศน์มหาชาติแบบประยุกต์ 
ที่มาของภาพ (บ้านเมือง.2561)

ตารางเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์
การเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล มีอยู่ทั่วไปบนแผ่นดินไทยซึ่งเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนา การเทศน์มหาชาตินั้นจะเริ่มต้นด้วย "การเทศน์คาถาพัน" หมายถึง การเทศน์คาถาเวสสันดรชาดกทั้ง 1,000 คาถา ซึ่งรวบรวมมาจากคาถาในแต่ละกัณฑ์ทั้ง 13 กัณฑ์ ติดต่อกันรวดเดียวจบเป็นภาษาบาลี 

หลังจากนั้นจึงจะต่อด้วยการเทศน์มหาชาติแต่ละกัณฑ์ จำนวน  13 กัณฑ์ ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร อันได้ชื่อว่าเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนจะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและออกบวช จนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับในปีนี้ มีกำหนดการเทศน์ ดังนี้ 

ศุกรที่ 3 มี.ค.2566
  • 18:00 น. กัณฑ์คาถาพัน (1,000 คาถา) โดย พระมหากรวิก อหึสโก และ พระมหานิคม นิสโภ วัดสุทัศนเทพวราราม
เสาร์ที่ 4 มี.ค.2566
  • 10:00 น. กัณฑ์ทศพร (19 คาถา)โดย พระราชธรรมวาที วัดประยุรวงศาวาส
  • 13:00 น. กัณฑ์หิมพานต์ (134 คาถา)โดย พระครูวิสุทธิ์ธรรมประสิทธิ์ (สิน) วัดหลักสี่
  • 15:00 น. กัณฑ์ทานกันณฑ์ (209 คาถา)โดย พระครูศรีธรรมประสิทธิ์ (สม) วัดหลักสี่
  • 17:00 น. กัณฑ์วนประเวศน์ (57 คาถา)โดย พระครูสุนทรสารวาที วัดเขากูบอินทาราม
  • 19:00 น. กัณฑ์ชูชก (79 คาถา)โดย พระครูวินัยธรกิตติศักดิ์ โคตมสิสุโส วัดพระเชตุพนฯ
อาทิตย์ที่ 5 มี.ค.2566
  • 09:00 น. กัณฑ์จุลพน (35 คาถา) โดย พระครูโฆสิตธรรมากร วัดสุวรรณาราม
  • 13:00 น. กัณฑ์มหาพน (80 คาถา)โดย พระครูศรีธรรมประสิทธิ์ (สม) วัดหลักสี่
  • 15:00 น. กัณฑ์กุมาร (101 คาถา)โดย พระครูวิสุทธิ์ธรรมประสิทธิ์ (สิน) วัดหลักสี่
  • 17:00 น. กัณฑ์มัทรี (90 คาถา)โดย พระเทพวิสุทธิดิลก วัดสามพระยา
  • 19:00 น. กัณฑ์มหาราช (69 คาถา)โดย พระครูวิธานธรรมปรีชา วัดดอนเมือง
จันทร์ที่ 6 มี.ค.2566
  • 09:00 น. กัณฑ์สักกบรรพ (43 คาถา)โดย พระครูศรีศาสนกิจจากร วัดยางงาม
  • 13:00 น. กัณฑ์ฉกษัตริย์ (36 คาถา)โดย พระครูวิสุทธิ์ธรรมประสิทธิ์ (สิน) วัดหลักสี่
  • 15:00 น. กัณฑ์นครกัณฑ์ (48 คาถา)โดย พระครูพิมลธรรมภาณ วัดพระเชตุพนฯ
พระครูวินัยธรกิตติศักดิ์ โคตมสิสุโส วัดพระเชตุพนฯ
กัณฑ์ชูชก

อานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาติ ผู้ที่ฟังจะสำเร็จและสมความปรารถนาทุกประการ ดังนี้
(กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. 2563)
  1. เมื่อตายจากโลกนี้แล้ว จะมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้า พระนามว่า ศรีอริยเมตไตย ในอนาคต
  2. เมื่อดับขันธ์ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ จะเสวยทิพยสมบัติมโหฬาร
  3. เมื่อตายไปแล้วจะไม่ตกนรก
  4. เมื่อถึงยุคพระพุทธเจ้าพระนามว่า ศรีอริยเมตไตย จะได้จุติไปเกิดเป็นมนุษย์
  5. ได้ฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์ จะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระอริยบุคคล
การเทศน์มหาชาติในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการวัด ได้นิมนต์พระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ จากวัดในกรุงเทพฯ และวัดในราชบุรีเราเอง การเทศน์สมัยนี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่ออีกต่อไป เพราะพระท่านได้ปรับปรุงพัฒนาทักษะการเทศน์ ให้เข้าใจง่าย สนุกสนาน ชวนติดตาม มีคติเตือนใจ แทรกด้วยธรรมมะ  การเทศน์มหาชาติก็เหมือนกับการติดตามซีรีย์ของพระเวสสันดร ซึ่งเป็นซีรีย์ทางศาสนาที่น่าติดตามทั้ง 13 ตอน 

อานิสงค์การห่มผ้าพระพุทธรูป
การแห่ผ้าและห่มผ้า พระมงคลบุรี พระศรีนัคร์ และพระพุทธไสยยาสน์ จัดให้มีขึ้นในวันศุกร์ที่ 3 มี.ค.2566 เวลา 13:00-17:00 น.โดยเชื่อว่าผู้ที่ทำบุญด้วยการถวายผ้าคลุมองค์พระพระพุทธรูป จะได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ในด้านความเป็นอยู่ จะพรั่งพร้อมไปด้วยอาภรณ์เครื่องประดับ มีเครื่องใช้ไม้สอยสะดวกสบาย สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีผิวพรรณงามสะดุดตา เป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้ที่พบเห็น จะเป็นที่รักใคร่ของเจ้านาย ผู้บังคับบัญชา บุตรหลานบริวารจะเกรงใจ เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในสังคม อานิสงส์ผลบุญนี้จะส่งผลให้มีชีวิตที่สุขสบาย


ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีผ้าขึ้นธาตุ หมายถึง การนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางศาสนา การแห่ผ้าและห่มผ้าพระมหาธาตุ นี้ คณะกรรมการวัดฯ จัดให้มีขึ้นในวันมาฆบูชา คือ วันจันทร์ที่ 6 มี.ค.2566 เวลา 17:30-18:30 น. 


อานิสงฆ์ของการทำบุญถวายห่มผ้าพระธาตุเป็นบุญกุศลที่ใหญ่ เพื่อตั้งอธิษฐานจิตในการสืบทอดพระศาสนา การเจริญบุญกุศลในธรรม และการจรรโลงคุณงามความดี การห่มผ้าพระธาตุเจดีย์หรือพระปรางค์มหาธาตุจึงจัดว่าเป็นมหาบุญกุศลที่ใหญ่ ด้วยเหตุผลดังนี้
  1. พระธาตุเจดีย์เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า
  2. พระธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดี เป็นนิมิตหมายเครื่องเตือนใจ ละชั่วทำดี
มหรสพในงาน ลิเกคณะยิ่งรัก อารีย์พร


เทศกาลมาฆบูชาปีนี้ ใครยังไม่ได้วางแผนไปทำบุญสร้างกุศลที่ไหน เชิญมาได้ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี นะครับ  ลองมาฟังเทศน์มหาชาติในยุคสมัยใหม่ดู และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 6 มี.ค.2566 ซึ่งเป็นวัดมาฆบูชา มาร่วมประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ช่วงเย็น และอยู่ต่อเวียนเทียนได้เลย

**********************
ข่าว จุฑาคเชน 
สำนักข่าวหัวช้าง สถาบันราชบุรีศึกษา
3 มี.ค.2566


ที่มาข้อมูล
  • บ้านเมือง. (2561). พบพระครูฝาแฝดวัดหลักสี่นักเทศน์มหาชาติแบบประยุกต์. [Online]. Available : https://www.banmuang.co.th/news/education/116267. [2566 มีนาคม 3].
  • บรรเจิด ทวี. (2551). เทศน์มหาชาติ. [Online]. Available : https://autoinfo.co.th/article/94028. [2566 มีนาคม 3].
  • ท.ณเมืองกาฬ. (2555). การเทศน์มหาชาติ. [Online]. Available : https://www.gotoknow.org/posts/257557?fbclid=IwAR37tEGIA7bSRUT9xbkMwX2Ppx8eGSvNfBJIkzpOwHLbSWgjjrUPoNAN9F4. [2566 มีนาคม 3].
  • กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). อานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาติ. [Online]. Available : http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=5233&filename=i. [2566 มีนาคม 3].
  • พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์. (2566). ถวาย "ห่มผ้าพระธาตุ" เจดีย์ เป็นมหาบุญกุศลยิ่งใหญ่ ได้อย่างไร?. [Online]. Available : http://www.dhammathai.org/articles/dbview.php?No=1575#:~:text=เมื่อเรานำผ้าห่มพระ,ทำให้โลกนี้เกิดปลอดภัย. [2566 มีนาคม 3].

วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2566

โยธาฯ ขอความเห็นชุมชนในการพัฒนาเมืองราชบุรี และเมืองโพธาราม

โยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย โดย บริษัทฯ ที่ปรึกษาขอความเห็นชุมชนคนเมืองราชบุรี และชุมชนคนโพธาราม ในการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน 7 ระบบ รวมงบประมาณ 860 ล้านบาท


โยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ว่าจ้าง บจก.วอเตอร์ ดีเว็ลลัฟเม็นท์ คอนซัลแท็น กรุ๊ป และ บจก.เมกก้าเทค คอนซัลแตนท์  ทำการศึกษาและออกแบบรายละเอียด "โครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1" ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี ระยะเวลาจ้าง 520 วัน ตั้งแต่ 10 พ.ย.2564-13 เม.ย.2566 โดยมีกลุ่มพื้นที่ชุมชนที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 8 ชุมชน โดยแบ่งเป็น
  1. จ.สุพรรณบุรี ได้แก่ ชุมชนเมืองสุพรรณบุรี, ชมชนสองพี่น้อง และชุมชนสามชุก 
  2. จ.กาญจนบุรี ได้แก่ ชุมชนเมืองกาญจนบุรี, ชุมชนท่าม่วง และชุมชนท่ามะกา 
  3. จ.ราชบุรี ได้แก่ ชุมชนเมืองราชบุรี และชุมชนโพธาราม
โดยได้กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกชุมชน มาศึกษาความเหมาะสมและออกแบบขั้นต้น ประกอบด้วย
  • คัดเลือกเฉพาะงานที่โยธาธิการและผังเมืองและท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้
  • งานที่สอดคล้องกับความต้องการ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากการพัฒนาพื้นที่ชุมชนระยะเร่งด่วนและระยะกลาง (10 ปีข้างหน้า)
  • งานที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เหมาะสมตามหลักวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ ประชาสังคมยอมรับได้ และสอดคล้องตามกำลังงบประมาณที่คาดว่าจะจัดหาได้ (ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท/ชุมชน)
  • ต้องมีพื้นที่ก่อสร้างและท้องถิ่นและประชาคมสนับสนุน (ไม่มีการเวนคืนที่ดิน)
ทำอะไรบ้าง? ในเมืองโพธาราม 
งานที่ บริษัทฯ ที่ปรึกษาเสนอแก่คนในชุมชนโพธารามในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 เมื่อ 28 ก.พ.2566 ณ หอประชุมเทศบาลเมืองโพธาราม (ริมน้ำ) อ.โพธาราม โดยมี นายมานะ วัฒนากร โยธาธิการและผังเมือง จ.ราชบุรี เป็นประธาน มีจำนวน 6 โครงการ งบประมาณจำนวน 199.07 ล้านบาท ได้แก่
  1. โครงการก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วม ริมแม่น้ำแม่กลอง (73.96 ล้านบาท)
  2. โครงการปรับปรุง ถ.โชคชัย-ถ.ริมคลองบ้านใหม่ (13.35 ล้านบาท)
  3. โครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำหลัก ซอยร่วมมิตร-ถนนประชาวาส (28.39 ล้านบาท)
  4. โครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำหลัก ถนนขนานทางรถไฟ (68.99 ล้านบาท)
  5. โครงการจัดทำสวนสาธารณะริมแม่น้ำแม่กลอง บริเวณวัดไทรอารีรักษ์ (7.89 ล้านบาท)
  6. โครงการจัดทำสวนสาธารณะริมแม่น้ำแม่กลอง บริเวณโรงเรียนเทศบาลวัดโชค (6.49 ล้านบาท)
นายมานะ วัฒนากร โยธาธิการและผังเมือง จ.ราชบุรี เป็นประธาน

หอประชุมเทศบาลเมืองโพธาราม (ริมน้ำ)

โครงการจัดทำสวนสาธารณะริมแม่น้ำแม่กลอง
บริเวณโรงเรียนเทศบาลวัดโชค (6.49 ล้านบาท)

ทำอะไรบ้าง? ในเมืองราชบุรี
งานที่ บริษัทฯ ที่ปรึกษาเสนอแก่คนในชุมชนเมืองราชบุรีในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 เมื่อ 1 มี.ค.2566 ณ ห้องกัลปพฤกษ์ โรงแรมเวสเทิร์นแกรนด์ อ.เมืองราชบุรี  โดยมี นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี เป็นประธาน มีจำนวน 9 โครงการ งบประมาณจำนวน 660.50 ล้านบาท ได้แก่
  1. โครงการปรับปรุงคลองระบายน้ำหลัก บริเวณคลองฝรั่ง (148.52 ล้านบาท)
  2. โครงการปรับปรุงคลองระบายน้ำหลัก คลองบ้านไร่ (65.30 ล้านบาท)
  3. โครงการปรับปรุงคลองระบายน้ำหลัก คลองระบายน้ำโครงการ กสช. พร้อมก่อสร้างสถานีสูบน้ำปลายทาง (127.45 ล้านบาท)
  4. โครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำหลัก ถนนวิทิศวรการ (สมบูรณ์กุล) (21.42 ล้านบาท)
  5. โครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำหลัก ถนนวิทิศวรการ ซอย 11 (49.42 ล้านบาท)
  6. โครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำหลัก ถนนวิศวเสนานิคม (32.70 ล้านบาท)
  7. โครงการปรับปรุงถนนบ้านดอนแจง-ถนนวิทิศวรการ พ้อมก่อสร้างท่อระบายน้ำหลัก (138.43 ล้านบาท)
  8. โครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำหลัก ถนนแม้นรำลึก (64.29 ล้านบาท)
  9. โครงการจัดทำสวนสาธารณะ บริเวณปากคลองฝรั่ง (12.96 ล้านบาท)
นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี เป็นประธาน

ณ ห้องกัลปพฤกษ์ โรงแรมเวสเทิร์นแกรนด์ อ.เมืองราชบุรี

โครงการจัดทำสวนสาธารณะ บริเวณปากคลองฝรั่ง
(12.96 ล้านบาท)

ชุมชนให้ข้อเสนอแนะและตอบแบบสอบถาม
บริษัทฯ ที่ปรึกษา ได้บรรยายงานและความจำเป็นของแต่ละโครงการที่ทำการออกแบบมา ให้คนในชุมชนฟัง พร้อมทั้งขอความอนุเคราะห์และข้อคิดเห็นจากคนในชุมชน เพื่อนำไปปรับปรุงการศึกษาออกแบบแต่ละโครงการให้ดียิ่งขึ้น เป็นไปตามความต้องการของชุมชน และขอให้คนที่มาฟังช่วยตอบแบบสอบถามในแต่ละโครงการว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ควรปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง และที่สำคัญให้แต่ละคนช่วยพิจารณาจัดลำดับความเร่งด่วนของแต่ละโครงการที่มีความจำเป็นก่อน เพราะงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาอาจมีจำนวนไม่มากพอที่จะทำทุกโครงการ จึงต้องเลือกโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อนตามความต้องการของคนในชุมชน

สำหรับผลสรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 ทั้งพื้นที่ชุมชนเมืองราชบุรี และพื้นที่ชุมชนโพธาราม ทางบริษัทฯ ที่ปรึกษาจะได้แจ้งให้ประชาชนทราบในโอกาสต่อไป

*********************************
ภาพ/ข่าว จุฑาคเชน 
1 มี.ค.2566
สำนักข่าวหัวช้าง
สถาบันราชบุรีศึกษา



วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

การจำหน่ายเสื้อสีเหลืองในจังหวัดราชบุรี เริ่มคึกคัก

นายกฯ ชวนประชาชนใส่เสื้อเหลือง รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 9 วันที่ 13 ต.ค. 2561 พร้อมใจใส่เสื้อเหลืองทั่วประเทศ วันที่ 12-13 ตุลาคม  2561 เพื่อรำลึกพระมหากรุณาธิคุณถึงพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ทำให้การจำหน่ายเสื้อสีเหลืองทั้งคอปก และเสื้อสีเหลือโปโลในจังหวัดราชบุรี เริ่มวางขายกันอย่างคึกคัก



 วันที่ 9 ต.ค.61 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปสำรวจร้านค้าขายเสื้อสีเหลือง ในตลาดเขตเทศบาลเมืองราชบุรี พบว่าร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่ ได้มีการนำเสื้อสีเหลืองคอปก  และเสื้อสีเหลืองโปโลมาวางจำหน่าย และมีลูกค้ามาเลือกซื้อเป็นจำนวนมาก หลังพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม 2561 โดยยึดแนวปฏิบัติเดิมที่ได้ดำเนินการมาแล้วในปี 2560 เช่น พิธีทำบุญตักบาตร พิธีทางศาสนาของศาสนาต่างๆ หรือกิจกรรมอื่นๆ ตามความเหมาะสม ในห้วงก่อนหรือหลังวันคล้ายวันสวรรคต

 ทั้งนี้ นางวันเพ็ญ  วงค์สุขศิริเดชา เจ้าของร้านป้าอ้วน ในตลาดสนามหญ้าจังหวัดราชบุรี เริ่มนำเสื้อออกมาว่างขาย โดยให้ข้อมมูลการขายว่า เสื้อเหลืองขายเป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนมากประชาชนก็มีเสื้อเหลืองกันอยู่ ตอนนี้บางคนที่ไม่มีอาจมาซื้อเพิ่มเติม ราคาปกติ  รณรงค์ใส่เสื้อเหลือง จะไม่ใส่เสื้อสีดำหรือจะใส่สีอะไรก็ได้  ส่วนมากทุกคนจะใส่เสื้อเหลืองกันอยู่แล้ว


ในส่วนของจังหวัดราชบุรี นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจัดทำประชาสัมพันธุ์ เชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดราชบุรีสวมเสื้อสีเหลือง กันอย่างพร้อมเพรียง ในวันที่ 13 ตุลาคม 2561 และได้ให้จัดทำประชาสัมพันธ์เชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม 2561 ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ว่า “เน้นย้ำให้คนไทยทุกคนรู้ รัก สามัคคี มุ่งมั่นทำความดี และน้อมนำแนวทางตามพระราชดำริต่างๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประพฤติปฏิบัติ เพื่อสร้างความสุขอย่างยั่งยืนในชีวิต และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติบ้านเมือง”




************************************
ภาพ/ข่าว ณัฐชยา ประชาสุข , วิจิตรานุช ตั้งฉิ่ง
เรียบเรียง รัตนพล ครุธงาม , ชุติมา แซ่ลี